iN:การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ไม่ควรมองแค่เรื่องขนส่ง (Transportation Cost)

การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ไม่ควรมองแค่เรื่องขนส่ง (Transportation Cost)

“การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ไม่ควรมองแค่เรื่องขนส่ง (Transportation Cost) เท่านั้น ควรต้องคำนึงตั้งแต่การวางแผน การจัดซื้อจัดหา กระบวนการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องของสินค้าคงคลัง (Inventory)”   ที่ผ่านมาพอพูดถึงโลจิสติกส์คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการขนส่ง (Transportation) เพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการขนส่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการโลจิสติกส์  ดังนั้นเบื้องต้นในคอลัมส์นี้อาจารย์จะขอพูดถึงความหมายของโลจิสติกส์ก่อน   โลจิสติกส์ นั้นหมายถึงกระบวนการอย่างเป็นระบบในการวางแผน (Plan) การจัดซื้อจัดหา (Source)  การผลิต (Make) และการจัดส่ง (Deliver) โดยเริ่มจากการจัดการให้วัตถุดิบ สินค้า และบริการ ผ่านกระบวนการผลิต และเคลื่อนย้ายจากต้นทางไปยังผู้บริโภคซึ่งอยู่ปลายทางได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และเพื่อประโยชน์โดยรวมของทุกฝ่ายในองค์กร และระหว่างองค์กรที่ประกอบกันเป็นโซ่อุปทาน (Supply Chain)  ดังนั้นถ้าจะพูดถึงการลดต้นทุนโลจิสติกส์(Logistics Cost) เราก็ควรที่จะพิจารณาทุกกระบวนการในโลจิสติกส์ ซึ่งในคอลัมส์นี้อาจารย์อยากจะกล่าวถึงต้นทุนโลจิสติกส์(Logistics Cost) ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งซึ่งก็คือ ต้นทุนสินค้าคงคลัง(Inventory Cost) ซึ่งจากที่อาจารย์ได้มีโอกาสเข้าให้คำปรึกษาแนะนำด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในสถานประกอบการหลายแห่งพบว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังมีต้นทุนสินค้าคงคลังที่สูงมากเมื่อเปรียบเที่ยบกับยอดขาย  โดยสามารถประเมินได้จากตัวเลขเปอร์เซ็นต์มูลค่าสินค้าคงคลังต่อยอดขาย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญตัวหนึ่ง โดยคำนวณได้จาก  เปอร์เซ็นต์มูลค่าสินค้าคงคลังต่อยอดขาย = มูลค่าสินค้าคงคลังรวมต้นงวด/ยอดขายปลายงวดx100  สำหรับสินค้าคงคลัง (Inventory) หมายถึง วัสดุหรือสินค้าต่างๆ ที่เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต  การขาย หรือการดำเนินงานอื่นๆ ซึ่งอาจารย์ได้แบ่งสินค้าออแป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ 
           1) วัตถุดิบ (Raw Material)  
           2) งานระหว่างทำ (Work-in-Process)   
           3) สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods)   
           4) บรรจุภัณฑ์ (Packaging)   
           5) วัสดุซ่อมบำรุง (Maintenance/Repair/Operating Supplies) 
สำหรับสินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสถานประกอบการ เพราะจัดเป็นวัสดุหรือสินค้าต่างๆ ซึ่งสถานประกอบมีไว้เพื่อให้การผลิตหรือการขายดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่การที่มีสินค้าคงคลังมากจนเกินไปอาจเป็นปัญหากับสถานประกบการได้ ทั้งในด้านต้นทุนการเก็บรักษาที่สูง สินค้าเสื่อมสภาพ หมดอายุ ล้าสมัย สูญหาย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดต้นทุนจม ทำให้สูญเสียโอกาสในการนำเงินไปสร้างประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสถานประกอบการมีสินค้าคงคลังน้อยเกินไป ก็อาจประสบปัญหาสินค้าขาดแคลนไม่เพียงพอ (Stock out) ทำให้ทั้งการผลิตและการขายอาจต้องหยุดชะงัก สูญเสียโอกาสในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้า ดังนั้นสถานประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ ให้มีปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไปและไม่น้อยจนขาดแคลน  สำหรับฉบับนี้อาจารย์หวังว่าผู้อ่านจะได้รู้จักกับกระบวนการโลจิสติกส์ และต้นทุนโลจิสติกส์ที่สำคัญ ซึ่งก็คือ ต้นทุนสินค้าคงคลัง มากขึ้น ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสินค้าคงคลัง และในฉบับหน้าอาจารย์จะได้กล่าวถึง ปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดปริมาณของสินค้าคงคลัง และตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงคลัง    

 

บทความโดย
อาจารย์ธนกฤต แก้วยนุ้ย รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา
ภาควิชาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์